ความสำคัญของคุณธรรม จริยธรรม

ความสำคัญของคุณธรรม จริยธรรม
คุณธรรม จริยธรรม เป็นสิ่งที่มีในความเป็นมนุษย์ของบุคคลในสังคม เพื่อให้สังคมเกิดความสงบสุข ซึ่งกล่าวได้ว่า คุณธรรม จริยธรรม มีความสำคัญในการแก้ปัญหาสังคมได้
ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (2551 : 7) ได้กล่าวถึงความสำคัญของคุณธรรมและจริยธรรม ไว้พอสรุปได้ว่า เด็กและเยาวชนเป็นทรัพยากรบุคคลที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ จำเป็นต้องมีการปลูกฝังคุณลักษณะที่พึงประสงค์ทั้งด้านความรู้ และคุณธรรม ซึ่งจำเป็นต้องกระทำตั้งแต่วัยเด็ก จนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สร้างคุณประโยชน์ให้แก่สังคมในปัจจุบันและอนาคต
ป๋วย อิ้งภากรณ์ (2545 : 3) ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับความสำคัญของคุณธรรม จริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาไว้พอสรุปได้ว่า การศึกษาควรมีจุดมุ่งหมาย ต่อไปนี้
1. เพื่อที่จะอบรมนักเรียนให้เป็นมนุษย์ที่ดี มีความซื่อสัตย์สุจริต มีศีลธรรม เป็นพลเมืองดี มีความคิดชอบ ทำชอบ ประพฤติชอบ
2. ควรจะอบรมนักเรียน รวมทั้งนักศึกษามหาวิทยาลัยให้รู้จักใช้ความคิด รู้จักบำรุงสติปัญญาให้เฉียบแหลมเพื่อนำมาใช้ประโยชน์แก่ตนและแก่ประชาชน
3. ฝึกนักเรียนให้มีความรู้สำหรับใช้ประกอบอาชีพ โดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น
พร้อมได้แสดงทัศนะเพิ่มเติมอีกว่า การศึกษาอบรมดังกล่าวไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในสถานศึกษาเท่านั้น โดยเฉพาะในหัวข้อที่ 1 ควรจะได้รับการอบรมจากทางบ้าน ข้อนี้สำคัญมาก แม้จะเป็นเรื่องที่รู้ ๆ กันอยู่ แต่ด้วยสมัยปัจจุบันพ่อ-แม่ ผู้ปกครอง มักโยนความรับผิดชอบไปให้ครู อาจารย์ และสถานศึกษา ดังนั้นสถานศึกษามีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับวิชาการและวิชาชีพตามข้อ 2 และข้อ 3 ผู้ใดได้รับการศึกษาในระดับต่ำก็จะได้รับประโยชน์น้อย แต่ถ้าการศึกษาสูงขึ้นไปก็จะได้รับประโยชน์เพิ่มพูนขึ้น แต่หากผู้ใดมีสันดานเลวและบกพร่องในข้อ 1 คือปราศจากความซื่อสัตย์สุจริตและศีลธรรม คุณประโยชน์ที่จะได้รับจากข้อ 2 และข้อ 3 ย่อมกลายเป็นโทษ และในบางกรณีย่อมกลายเป็นโทษมหันต์
พระบำรุง ปญฺญาพโล (2555 : 14) ได้กล่าวถึงความสำคัญของคุณธรรมและจริยธรรม ไว้ด้งนี้ คุณธรรมจริยธรรมมีความสำคัญต่อการพัฒนามนุษย์ เพื่อให้มีคุณภาพ ลักษณะอันมาซึ่งความเป็นพลเมืองที่ดี ความประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดีงามตามคำสั่งสอนในศาสนา หรือการประพฤติตามเกณฑ์ที่ถูกต้องทั้งกายวาจา และใจ อันก่อให้เกิดประโยชน์และความสุขทั้งต่อตนเองและสังคมส่วนร่วม นำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าของสังคม เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างคุณธรรมและจริยธรรมให้เกิดมีตัวบุคคลมากที่สุด
คุณธรรม จริยธรรม และที่พึ่งประสงค์ ถือว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนามนุษย์ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
กรมวิชาการ (2539 : 15) ได้อธิบาย คุณธรรม จริยธรรม และค่านิยม มีบทบาทสำคัญในชีวิตมนุษย์หลายประการเช่น
1. ทำหน้าที่เป็นบรรทัดฐานหรือมาตรฐานของพฤติกรรมทั้งหลาย เป็นตัวกำหนดการแสดงออกว่าควร
ทำหรือไม่ควรทำ ซึ่งจะช่วยกำหนดจุดยืนในเรื่องต่าง ๆ และช่วยประเมินการปฏิบัติของตัวเราและบุคคลอื่น
2. ทำหน้าที่เป็นแบบแผนสำหรับการตัดสินใจและแก้ไขข้อขัดแย้งต่าง ๆ ทำให้เขาเลือกทางใดทางหนึ่งเพื่อแก้ไขปํญหา เช่น การตัดสินใจปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตแทนที่จะเลือกในทางช่วยเหลือพวกพ้องหรือปฏิบัติในทางที่ไม่สุจริต
3. ทำหน้าที่เป็นแรงจูงใจหรือผลักดันของบุคคล เช่น คนที่นิยมชมชอบการมีอายุยืนยาว มีสุขภำดี จะผลักดันให้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
จริยธรรมนับว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญของมนุษย์ทุกคนและทุกวิชาชีพ หากบุคคลใดหรือวิชาชีพใดไม่มีจริยธรรมเป็นหลักยึดเบื้องต้นแล้วก็ยากที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จแห่งตนและวิชาชีพนั้น ๆ ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การขาดจริยธรรมทั้งในส่วนบุคคลและในวิชาชีพ อาจมีผลร้านต่อตนเอง สังคมและวงการวิชาชีพในอนาคตอีกด้วย ดังจะพบเห็นได้จากการเกิดวิกฤติศรัทธาในวิชาชีพหลายแขนงในปัจจุบัน ทั้งในวงการวิชาชีพครู แพทย์ ตำรวจ ทหาร นักการเมือง ฯลฯ จึงมีคำกล่าวว่าเราไม่สามารถสร้างครูดีบนพื้นฐานของคนไม่ดี และไม่สามารถสร้างแพทย์ ตำรวจ ทหา นักการเมือง และนักธุรกิจที่ดีได้ ถ้าบุคคลเหล่านั้นมีพื้นฐานทางนิสัยและความประพฤติที่ไม่ดี
พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) (2531 : 3) กล่าวว่า น้ำและอากาศเป็นสิ่งที่มีอยู่ทั่ว ๆ ไปเป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิต เพราะ ถ้าขาดน้ำเพียงวันเดียวคนก็แทบตาย ยิ่งขาดอากาศประเดี๋ยวเดียวก็อาจตายหรือไม่ก็เป็นอัมพาตไป จริยธรรมหล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์และสังคของเราอยู่โดยไม่รู้ตัว แต่ก็มีความแตกต่างกันอยู่อย่างหนึ่งระหว่างน้ำและอากาศ กับศาสนาและจริยธรรม คือน้ำและอากาศนั้นคนขาดไปแล้วก็รู้ตัวเองว่าตัวเองขาดอะไรและต้องการอะไร แต่ศาสนาและจริยธรรมนั้นมีลักษณะประณีตและเป็นนามธรรมมาก จนกระทั่งแม้ว่าคนจะขาดสิ่งเหล่านี้จนถึงขั้นมีปัญหาเกิดขึ้นแล้วก็ยังไม่รู้ว่าขาดอะไร ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องสร้างความเข้าใจ และชี้แจงอย่างต่อเนื่องให้ตระหนักเห็นคุณค่าและความสำคัญ
ยนต์ ชุมจิต (2546 : 264) ได้อธิบายว่า คุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรมก่อให้เกิดประโยชน์หรือมีความสำคัญทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ประโยชน์ตน ทำให้ตนเองมีชีวิตที่สงบร่มเย็น ไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจ ไม่ต้องอยู่อย่างหวาดระแวง เพราะตนเองไม่ได้เบียดเบียนผู้ใด มีแต่จะสร้างประโยชน์สุขให้แก่สังคมและผู้อื่น ทำให้ตนเองมีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตส่วนตัวและการงานอาชีพ มีความมั่นคงและก้าวหน้า ได้รับการยกย่องสรรเสริญเทิดทูนบูชาจากบุคคลทั่วไป ครอบครัวอบอุ่น มีความสุข มีฐานะทางเศรษฐกิจมั่นคง ประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ประโยชน์ต่อสถาบัน เช่น สถาบันครอบครัวของตนได้รับการยกย่องสรรเสริญจากบุคคลทั่วไป สถาบันการศึกษาหรือสถาบันที่ประกอบอาชีพธุรกิจมีชื่อเสียง ทำให้บุคคลอื่นศรัทธาเลื่อมใส สถาบันหรือหน่วยงานที่ตนเองสังกัดมีความเจริญก้าวหน้า ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทั้งนี้เพราะสมาชิกทุกคนเป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรมอันดีงาม ประโยชน์ต่อชุมชน เช่น สังคมได้รับความสงบสุข เพราะทุกคนเป็นคนที่มีคุณธรรม และสังคมได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องรวดเร็ว เพราะสมาชิกทุกคนต่างกระทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มความสามารถ ประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง เช่น สถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มีความมั่นคง เพราะประชาชนมีความจงรักภักดีและเห็นความสำคัญของสถาบันดังกล่าวอย่างแท้จริง และขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของชาติมีความมั่นคงถาวร เพราะทุกคนมีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ และเต็มใจยึดถือปฏิบัติตาม
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (2540 : 1) ได้ศึกษาเกี่ยวกับคุณลักษณะทางจิตใจที่จะนำไปสู่พฤติกรรมที่ช่วยสร้างเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนให้มีความเก่ง ความดี และมีความสุข ซึ่งเกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดโดยเน้นจริยธรรมเป็นสำคัญ เพื่อหาแนวทางในการปลูกฝังค่านิยมและแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับเยาวชนและสังคมไทยโดยมุ่งเน้นให้เยาวชนมีคุณลักษณะ ที่พึงประสงค์ 5 ประการ ได้แก่
1.ความสนใจใฝ่รู้และสร้างสรรค์ เป็นคุณลักษณะทางจิตใจและพฤติกรรมที่แสดงถึงความ
กระตือรือร้นสนใจใฝ่คิดค้นเสาะแสวงหาความรู้ด้านต่าง ๆ
2.ความมีน้ำใจ เป็นคุณลักษณะทางจิตใจและพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความรู้สึกที่ดีที่บุคคลกระทำ
เพื่อผู้อื่นและสังคม ความมีน้ำใจเป็นคุณลักษณะที่เด่นของคนไทยที่ปรากฏอย่างเด่นชัดในสังคมชนบท ความมีน้ำใจ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเอื้ออาทรต่อกันทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่น่าอยู่ การเปลี่ยนแปลงของสังคมเมืองที่เน้นเศรษฐกิจทำให้วิถีชีวิตของคนมีความเร่งรีบและต่อสู้มากขึ้น ซึ่งมีผลต่อการแสดงออกต่อกันด้านความมีน้ำใจและปรากฏชัดมากขึ้นในสังคมอุตสาหกรรม หากสังคมไม่ให้ความสนใจในการส่งเสริมด้านความมีน้ำใจอาจทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา ความมีน้ำใจมีพื้นฐานมาจากการรู้จักช่วยเหลือ รับผิดชอบต่อตนเองและการรู้จักเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น รู้สึกเห็นอกเห็นใจอันจะนำมาซึ่งการช่วยเหลือรับผิดชอบต่อตนเองและการรู้จักเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น รู้สึกเห็นอกเห็นใจอันจะนำมาซึ่งการช่วยเหลือเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่น รู้จักแบ่งปันและให้ ตลอดจนเสียสละโดยไม่หวังผลตอบแทน ความมีวินัย เป็นคุณลักษณะทางจิตใจและพฤติกรรมที่จะช่วยให้สามารถควบคุมตนเองและปฏิบัติตนตามระเบียบเพื่อประโยชน์สุขของส่วนร่วม นักจิตวิทยาและนักสังคมวิทยาเชื่อว่าวินัยมีพื้นฐานมาจากวัยแรกของชีวิต มีการเรียนรู้ การเลียนแบบและการฝึกฝนจากบุคคลและสังคมแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน กับการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจนเกิดการซึมซับคุณธรรมขึ้นภายใน ทำให้เกิดพฤติกรรมจริยธรรมและคุณธรรมของบุคคล ความเป็นไทย เป็นคุณลักษณะทางจิตใจและพฤติกรรมที่แสดงถึงการเห็นคุณค่าภาคภูมิใจและสำนึกในความเป็นไปที่มีวัฒนธรรมพร้อมที่จะปฏิบัติ ปกป้อง อนุรักษ์และสืบทอด อีกทั้งเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ แต่เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของสังคมยุคโลกไร้พรมแดน ความเป็นไทยจะยังคงอยู่ยาวนานเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาและอนุรักษ์ความเป็นไทย จึงต้องช่วยกันปลูกฝังสิ่งที่ดีงามด้านความเป็นไทยสู่จิตใจของเด็กและเยาวชน การบริโภคด้วยปัญญาในวิถีชีวิตไทย เป็นการวิเคราะห์และไตร่ตรอง ตัดสินใจเลือกรับหรือกระทำสิ่งใดด้วยความรู้และเข้าใจในประโยชน์และคุณค่าที่แท้จริง การศึกษาไทยควรเน้นในเรื่องการบริโภคด้วยปัญญา แต่ความก้าวหน้าทางวัตถุชนิดที่มนุษย์ไม่อาจควบคุมให้อยู่ในหลักการแห่งความพอดีเป็นความเสื่อมทางจิตใจ พฤติกรรมของมนุษย์ที่แสดงออกมาจึงมีลักษณะของการสร้างความเสื่อมแก่สภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือธรรมชาตินำไปสู่ความวิปริตของดินฟ้าอากาศ ทุกชีวิตในโลกจึงไร้ความปลอดภัยเพราะความเจริญทางด้านวัตถุแต่ขาดความเจริญทางด้านจิตใจ
พระมหาอาจริยพงษ์ (2554 : 15) ได้กล่าวถึงความสำคัญของคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์ ไว้ว่า ถือเป็นเครื่องชี้วัดความเจริญและความเสื่อมของสังคม ความสำคัญของคุณธรรมทำให้เกิดจริยธรรม และค่านิยมที่เหมาะสมส่งผลให้เกิดการปฏิบัติที่ถูกต้องและดีงาม ทำให้เกิดความสุขและความพึงพอใจกับตนเองและทำให้เกิดความสันติสุขต่อสังคม คุณธรรม สามารถที่จะปลูกฝังกันได้ ซึ่งเมื่อบุคคลเกิดคุณธรรมอย่างหนึ่งก็จะส่งผลให้เกิดคุณธรรมด้านอื่น ๆ ตามมา คุณธรรม จริยธรรมมีอยู่กับสังคมทุกระดับ เพื่อผลักดันให้สังคมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่คุณธรรม จริยธรรม ของแต่ละสังคมและแต่ละชุมชนก็อาจจะมีความแตกต่างกันตามความเชื่อ กาลเวลา ค่านิยม ศาสนา อาชีพ และชนชั้น ดังนั้น คุณธรรม จริยธรรม จึงมีลักษณะเป็นพลวัตร มีความเป็นอนิจลักษณะ พร้อมที่จะปรับตนเองให้เข้ากับบริบทของสังคมและชุมชนตลอดเวลา
สมเดช สีแสง (2538 : 230) ได้สรุปความสำคัญของคุณธรรมไว้ดังนี้ คุณธรรมเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเสริมสร้างความสงบสุขและความเจริญให้แก่บุคคลเป็นส่วนตัวและแก่ประเทศชาติเป็นส่วนร่วม ดังในพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อวันที่ 8 กรกฏาคม 2520 ว่า “การที่จะทำงานให้สัมฤทธิ์ผลที่พึงปรารถนา คือ ที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรมด้วยนั้น จะอาศัยความรู้แต่เพียงอย่างเดียวมิได้ จำเป็นต้องอาศัยความสุจริตความบริสุทธิ์ใจ และความถูกต้องเป็นธรรมประกอบด้วย เพราะเหตุว่าความรู้นั้นเป็นเสมือนเครื่องยนต์ที่ทำให้ยวดยานเคลื่อนไปได้ประการเดียว ส่วนคุณธรรมดังกล่าวเป็นเสมือนหนึ่งพวงมาลัยหรือหางเสือ ซึ่งเป็นปัจจัยที่นำพาให้ยวดยานดำเนินไปถูกทางด้วย ความสวัสดี คือ ปลอดภัยจนบรรลุถึงจุดหมายที่พึงประสงค์” ที่ว่าคุณธรรมเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะเสริมสร้างความสงบสุขและความเจริญให้แก่บุคคลเป็นส่วนตัวนั้นก็เพราะว่า คุณธรรมเป็นเครื่องช่วยให้แต่ละคนประสบความสุขความเจริญในหลาย ๆ ทาง เช่น
1.คุณธรรมเป็นเครื่องธำรงศักดิ์ของความเป็นมนุษย์ เราไม่คุณค่าของมนุษย์เป็นตัวเงิน
แต่จะตีค่ากันด้วยคุณธรรม ผู้มีคุณธรรมจะเป็นผู้ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นคนดี เป็นคนมีค่ามาก ส่วนผู้ไร้คุณธรรมอาจจะถูกประณามว่า “เหมือนมิใช่คน” เป็นคนมีค่าน้อย
2. คุณธรรมเป็นเครื่องเสริมบุคลิกภาพ เช่น “ความซื่อตรง” ทำให้คนมีความสมบูรณ์ในความคิดและการกระทำ เพราะไม่มีความขัดแย้งกันระหว่างความคิด คำพูด และการกระทำ
3. คุณธรรมเป็นเครื่องเสริมมิตรภาพ เช่น “ความจริงใจ” ทำให้ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นเป็นไปอย่างราบรื่น คนไม่จริงใจย่อมไม่ได้รับความไว้วางใจ จึงทำให้เสียผลประโยชน์ที่ควรจะได้
4. คุณธรรมเป็นเครื่องสร้างความสบายใจ ซึ่งนอกจากจะสบายใจเพราะการทำแต่สิ่งที่ถูกต้องที่ควรแล้วยังสบายใจที่ไม่ต้องระแวงระวังในอันตรายที่จะมีมาอีกด้วย เพราะผู้มีคุณธรรมจะเป็นผู้ประพฤติแต่ในทางที่ถูกต้องและไม่ทำผิด
5. คุณธรรมเป็นเครื่องส่งเสริมความสำเร็จและความมั่นคงปลอดภัยในการประกอบอาชีพและดำรงชีวิต
กล่าวได้ว่า คุณธรรม และจริยธรรม มีความสำคัญ เป็นมาตรฐานกำหนดแสดงออกว่าควรทำหรือไม่ควรทำ ช่วยในการตัดสินใจปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตแทนการปฏิบัติในทางทุจริต ทำให้ตนเองมีความสงบสุข มีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต ซึ่งคุณธรรม จริยธรรมจะอยู่กับสังคมทุกระดับ เพื่อผลักดันให้สังคมมีความสงบสุข และคุณธรรม จริยธรรมของแต่ละสังคม อาจจะมีความแตกต่างกัน ตามความเชื่อ ค่านิยม ศาสนา อาชีพ ชนชั้น คุณธรรม จริยธรรมมีความเป็นพลวัตร

ที่มา
กรมวิชาการ.(2539).คู่มือการสร้างเครื่องวัดคุณลักษณะด้านจิตพิสัย.กรุงเทพ:โรงพิมพ์คุรุสภา.
ป๋วย อิ้งภากรณ์.(2545).ทัศนะว่าด้วยการศึกษา.กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลดีมทอง.
พระบำรุง ปัญฺญาพโล (โพธิ์ศรี).(2555).ปัจจัยที่มีผลต่อการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมของนักศึกษา วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เขตบางกอกใหม่ กรุงเทพมหานคร.ปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารการศึกษา)มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พระเทพเวท์ (ประยุทธ์ ปยุตโต).(2531).ธรรมมะกับการศึกษาของไทย.กรุงเทพมหานคร:คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
พระมหาอาจริยพงษ์ คำตั๋น.(2554).การปฏิบัติตนด้านคุณธรรมจริยธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนมัธยมศึกษาในเขตจังหวัดนครปฐม.ปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ยนต์ ชุมจิต.(2546).การศึกษาและความเป็นครูไทย.(พิมพ์ครั้งที่ 2).กรุงเทพมหานคร:โอเดียนสโตร์.
สมเดช มีแสง.(2538).คู่มือการปฏิบัติราชการและเตรียมสอบผู้บริหารการศึกษา.สำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติ.อุทัยธานี:ม.ป.พ.
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.(2540).คู่มือการจัดกิจกรรมและพัฒนาจิตพิสัยในระบบการเรียนการสอนระดับประถมศึกษา.กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์การศาสนา.

ดอกบัวบาน

Leave a comment