ทฤษฎีด้านคุณธรรม จริยธรรม

ทฤษฎีด้านคุณธรรม จริยธรรม
ได้มีนักวิชาการ ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมไว้หลายท่าน
ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมกับเด็ก เยาวชน ได้ดังนี้
1.ทฤษฎีเซลล์กระจกเงา (Mirror Neuron Theory)
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว(2552 : 35) ได้อธิบายถึงทฤษฎีเซลล์กระจก ไว้ว่าทฤษฎีเซลล์กระจกเงา เป็นการค้นพบของ Vittorio Gallese. Leonardo Fogassi and GiacomoRizzolatti ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ในประเทศอิตาลี ได้อธิบายว่า เซลล์กระจกเงาเป็นเซลล์ชนิดหนึ่งของมนุษย์ ที่คอยทำหน้าที่ในการเลียนแบบพฤติกรรมด้านต่าง ๆ ของผู้อื่น ๆ มาเป็นพฤติกรรมของตนเอง หมายความว่า พฤติกรรมของเด็ก เยาวชน มีผลมาจากเซลล์กระจกเงาที่เด็กได้เลียนแบบมาจากพฤติกรรมของบุคคลใกล้ชิด หรือแม้กระทั่งบุคคลต่าง ๆ ที่เด็กได้พบเห็น ถึงแม้ว่าเด็กจะไม่ได้เลียนแบบในทันทีที่เห็น แต่สมองของเด็กจะเก็บภาพการกระทำเหล่านั้นไว้และพร้อมที่จะเลียนแบบเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงกัน ข้อค้นพบจากทฤษฎีเซลล์กระจกเงาชี้ชัดว่าการสอนที่ดีสุด คือ การประพฤติเป็นแบบอย่างให้เห็นของผู้สอน หรือผู้ที่เลี้ยงดู ดังนั้นการเลียนแบบจากพฤติกรรมที่ถูกต้องของต้นแบบ รวมกับการพัฒนาทางด้านจิตใจในการเข้าใจผู้อื่น ทำให้เด็กค่อย ๆ มีความเข้าใจและพัฒนาเหตุผลในเชิงจริยธรรม ท้ายที่สุดเด็กก็จะมีบุคคลิกภาพที่ถูกต้องความหมายของคำว่า “คนดี” ในสังคม
กล่าวโดยสรุปได้ว่า ทฤษฎีเซลล์กระจกเงา การสอนที่ดีที่สุด คือ การปฏิบัตตนที่เป็นแบบอย่างที่ดีของเด็ก เพื่อเด็กจะได้นำไปเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำรงชีวิตในอนาคตต่อไป
2. ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของฌองเพียเจท์
เพียเจท์ (Jean Piaget) (1997 : 133) ได้กล่าวว่าในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของมนุษย์ เกิดจากแรงจูงใจในการปฏิบัติตนสัมพันธ์กับสังคม การพัฒนาจริยธรรมจึงจำเป็นต้องมีการพิจารณาเหตุผลเชิงจริยธรรมตามระดับสติปัญญาของแต่ละบุคคลที่มีวุฒิภาวะสูงขึ้น การรับรู้จริยธรรมได้พัฒนาขึ้นตามลำดับ พัฒนาการคุณธรรมและจริยธรรมของมนุษย์สามารถแบ่งเป็น 3 ขั้น และสามารถนำมาเป็นหลักเกณฑ์ในการแบ่งขั้นพัฒนาการทางจริยธรรม ได้ดังนี้
1. ขั้นก่อนจริยธรรม (ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 2 ขวบ) เป็นขั้นที่ยังไม่มีความสามารถในการรับรู้สิ่งแวดล้อม และระบบกฎเกณฑ์ได้ แต่ยังมีความต้องการทางกาย ซึ่งต้องการการตอบสนอง ดังนั้นการกระทำจะพึงกระทำเพื่อสนองความต้องการของตนเองโดยที่ไม่คำนึงถึงผู้อื่น
2. ขั้นเชื่อฟังคำสั่ง (ระหว่างอายุ 2 – 8 ขวบ) เด็กจะสามารถรับสภาพแวดล้อมและบทบาทของตนเองต่อผู้อื่น ๆ รู้จักเกรงกลัวผู้ใหญ่ โดยเห็นว่าคำสั่งหรือกฎเกณฑ์เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติตามโดยไม่สนใจถึงผลที่จะตามมา
3. ขั้นยึดหลักแห่งตน (ระหว่างอายุ 8 – 10 ขวบ) เด็กในวัยนี้จะมีพัฒนาการทางด้านสติปัญญาสูงขึ้น คลายความเกรงกลัวอำนาจจากภายนอก สามารถใช้ความคิดอย่างมีเหตุผลและประสบการณ์ประกอบการตัดสินใจ สามารถประเมินความถูกผิดโดยดูจากเจตนาของผู้กระทำและตั้งเกณฑ์ของตนเองได้”
กล่าวโดยสรุปได้ว่า คุณธรรม จริยธรรมของมนุษย์ มีด้วยกัน 3 ขั้น ขั้นก่อนจริยธรรมเป็นขั้นตอนที่ต้องการทางกายไม่สามารถรับรู้ระบบกฎเกณฑ์ได้ ขั้นเชื่อฟังคำสั่ง เป็นขั้นรับฟังคำสังจากผู้อื่น รู้จักเกรงกลัวผู้ใหญ่ ขั้นยึดหลักแห่งตน สามารถตั้งกฎเกณฑ์ตนเองได้ ไม่เกรงกลัวอำนาจจากภายนอก
3. ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของ ลอว์เรนซ์ โคลเบอร์ก
โคลเบอร์ (Lawrence Kohlberg) (2000 : 159) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้ทำการศึกษาทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของเพียเจท์ ทำให้พบว่า พัฒนาการทางจริยธรรมสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ 6 ขั้น มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน ดังนี้
ระดับที่ 1 ระดับก่อนกฎเกณฑ์ (Pre-Conventional Level) เด็กในระดับนี้จะตัดสินใจเลือกกระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง โดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น ในระดับนี้บุคคลจะขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจเหนือตน ระดับนี้เด็กจะมีอายุประมาณ 2 – 10 ขวบ แบ่งได้เป็น 2 ขั้น คือ
ขั้นที่ 1 ขั้นหลักการหลบหนีการถูกลงโทษ (The Punishment and Obedience Orientation)
เด็กจะปฏิบัติตามผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าตน เพราะกลัวการถูกลงโทษ เช่น ไม่กล้าหนี เรียน เพราะกลัวครูตัดคะแนน เป็นต้น (พบในเด็กอายุ 2-7 ขวบ)
ขั้นที่ 2 ขั้นหลักการแสวงหารางวัล (The Instrumental Relativist Orientation) เด็กจะทำตามกฎเกณฑ์เพราะเห็นว่าเป็นเครื่องมือที่ทำให้ได้สิ่งที่ต้องการ โดยมุ่งการตอบแทนทางกายและวัตถุมากกว่าในเรื่องของนามธรรม (พบในเด็กอายุ 7- 10)
ระยะที่ 2 ระดับตามกฎเกณฑ์ (Conventional Level) เด็กในระดับนี้จะทำตามกฎเกณฑ์ของกลุ่ม เพราะต้องการเป็นที่ยอมรับ จะเลียนแบบหรือคล้อยตามบุคคลใดกลุ่มเพื่อปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของสังคม โดยไม่ต้องคำนึงผลที่จะเกิดขึ้นในขณะนั้น ระดับนี้เด็กจะมีอายุประมาณ 10 – 16 ปี แบ่งได้เป็น 2 ขั้น คือ
ขั้นที่ 3 ขั้นใช้หลักการทำตามที่ผู้อื่นเห็นชอบ (The Enter Personal) เด็กจะกระทำในสิ่งที่ตนคิดว่าคนอื่น จะเห็นด้วยและพอใจ เพื่อการเป็นที่ยอมรับของเพื่อน โดยจะกระทำตามกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของสังคมอย่างเคร่งครัด (พบในเด็กอายุ 10 – 13 ปี)
ขั้นที่ 4 หลักการทำตามหน้าที่ของสังคม (The Law and Order Orientation) ในระดับนี้บุคคลจะเข้าใจในกฎเกณฑ์ บรรทัดฐานของสังคม ถือว่าตนมีหน้าที่ทำตามกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของสังคมอย่างเคร่งครัด (พบในเด็กอายุ 13 – 16 ปี)
ระดับที่ 3 ระดับเหนือกฎเกณฑ์ (Post Conventional Level) ในระดับนี้บุคคลจะตัดสินข้อขัดแย้งต่าง ๆ ด้วยการพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบด้วยตนเอง พิจารณาสิ่งต่าง ๆ อย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง หลุดพ้นจากฎเกณฑ์ของสังคม แบ่งได้เป็น 2 ขั้น คือ
ขั้นที่ 5 ขั้นทำตามคำมั่นสัญญาหรือมีเหตุผลเคารพตนเอง (Social Contract Legalistic Orientation) บุคคลจะเห็นความสำคัญของชนหมู่มาก เคารพตนเอง เคารพมิตที่มาจากการลงความเห็น มีเหตุผล ถือว่ากฎเกณฑ์ต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงได้โดยคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนร่วเป็นใหญ่ (พบในผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ได้แก่ วัยรุ่นตอนปลายและผู้ใหญ่)
ขั้น 6 ขั้นทำตามหลักอุดมสติสากล (The Universal Ethical Principle) บุคคจะสำนึกถึงคุณค่าของความถูกต้อง โดยคำนึงถึงเหตุผลอย่างกว้างขวาง คำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมและปฏิบัติตามความถูกต้องนั้นอย่างไม่หวั่นไหว มีความสะอายต่อการทำความชั่ว
โคลเบอร์ก เชื่อว่า พัฒนาการจริยธรรมนั้นไม่ใช่การรับรู้จากการสั่งสอนจากผู้อื่น แต่เป็นการผสมผสานระหว่างความรู้เกี่ยวกับบทบาทของตนเองต่อผู้อื่น และบทบาทของผู้อื่น รวมถึงกฎเกณฑ์ของกลุ่มต่าง ๆ การพัฒนาทางด้านการให้เหตุผลเชิงจริยธรรมเป็นไปตามขั้น ส่วนการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมจะพัฒนาจากขั้นต่ำแล้วพัฒนาขึ้นไปด้วยประสบการใหม่ ๆ ทางสังคม ทำให้การใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมอยู่ในขั้นสูงขึ้นไป
กล่าวได้ว่า ขั้นในการใช้เหตุผลตามทฤษฎีพัฒนาทางจริยธรรมของโคลเบอร์ก ขั้นที่ 1 ขั้นหลักการหลบหลีกการถูกลงโทษ ขั้นที่ 2 ขั้นหลักการแสวงหารางวัล ขั้นที่ 3 ขั้นใช้หลักการทำตามที่ผู้อื่นเห็นชอบ ขั้นที่ 4 หลักการทำตามหน้าที่ของสังคม ขั้นที่ 5 ขั้นทำตามคำมั่นสัญญาหรือมีเหตุผลเคารพตนเอง ขั้นที่ 6 ขั้นทำตามหลักอุดมคติสากล
4. ทฤษฎี่ความต้องการของ อับราฮัมมาสโลว์
มาสโลว์ (Abraham Maslow) (1987 : 15) ได้กล่าวไว้ว่า แนวคิดด้านจิตวิทยามนุษยนิยม (Humanistic Theory) เป็นแนวคิดที่นิยมใช้กันมากในการพัฒนามนุษย์ โดยมีความเชื่อพื้นฐานว่า มนุษย์มีความดีและมีคุณค่าต่อการยอมรับ มาสโลว์มองว่าความต้องการของมนุษย์มีลักษณะเป็นลำดับขั้น จากระดับต่ำสุดไปยังระดับสูงสุดเมื่อความต้องการในระดับหนึ่งได้รับการตอบสนอง แล้วมนุษย์ก็จะมีความต้องการอื่น ๆ ในระดับที่สูงขึ้นต่อไป มาสโลว์ แบ่งลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์ออกเป็น 5 ขั้น ดังนี้
1. ความต้องการทางร่างกาย (Physiological needs) เป็นต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์เพื่อความอยู่รอด เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค อากาศ น้ำดื่ม การฟักผ่อน เป็นต้น
2. ความต้องการความปลอดภัยและมั่นคง (Security or Safety needs) เมื่อมนุษย์สามารถตอบสนองความต้องการทางร่างกายได้แล้วมนุษย์ก็จะเพิ่มความต้องการในระดับสูงขึ้นต่อไป เช่นความต้องการความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินความต้องการความมั่นคงในชีวิตและหน้าที่การงาน
3. ความต้องการความผูกพันหรือการยอมรับ (Affiliation or Acceptance needs) เป็นการต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ซึ่งเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ เช่น ความต้องการให้และได้รับซึ่งความรัก ความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของหมู่คณะควาต้องการได้รรับการยอมรับการต้องการได้รับความชื่นชมจากผู้อื่น เป็นต้น
4. ความต้องการการยกย่อง (Esteem needs) หรือความภาคภูมิใจในตนเอง เป็นความต้องการได้รับการยกย่อง นับถือและสถานะจากสังคม เช่น การต้องการได้รับความเคารพ นับถือความต้องการมีความรู้ความสามารถ เป็นต้น
5. ความต้องการความสำเร็จในชีวิต (Self-Actualization) เป็นความต้องการสูงสุดของแต่ละบุคคล ที่มีความรักและศักดิ์ศรีในตน มีวินัย มีจริยธรรม และประสิทธิผลในการดำเนินชีวิต เช่นความต้องการที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างได้สำเร็จความต้องการทำทุกอย่างเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองแต่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรมและจริยธรรม เป็นต้น
กล่าวโดยสรุปได้ว่า ทฤษฎีดังกล่าวนี้ มนุษย์มีความดีและมีคุณค่าต่อการยอมรับ มนุษย์ย่อมพัฒนาตนเองเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ
5. ทฤษฎีต้นไม้ของดวงเดือน พันธุมนาวิน
ดวงเดือน พันธุมนาวิน (2544 : 187) ได้นำเสนอทฤษฎีที่เกี่ยวกับคุณธรรม และจริยธรรมไว้คือทฤษฎีต้นไม้ ได้อธิบายไว้ว่า ลักษณะพื้นฐานและองค์ประกอบทางจิตใจ ซึ่งจะนำไปสู่พฤติกรรมที่พึงปรารถนา เพื่อส่งเสริมให้บุคคลเป็นทั้งคนดีและคนเก่ง ได้ทำการศึกษาถึงสาเหตุพฤติกรรมของคนดีและคนเก่งรวมถึงสาเหตุของพฤติกรรมต่าง ๆ ของคนไทยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อายุตั้งแต่ 6-60 ปี ว่าพฤติกรรมมเหล่านั้น มีสาเหตุทางจิตใจอะไรและนำมาประยุกต์เป็นทฤษฎีต้นไม้จริยธรรมสำหรับคนไทย โดยแบ่งต้นไม้จริยธรรม ออกเป็น 3 ส่น ดังนี้
1. ส่วนดอกผล แสดงถึงพฤติกรรมการทำความดี ละเว้นความชั่วและพฤติกรรมการทำงานอย่างขยันขันแข็ง ซึ่งล้วนแต่เป็นพฤติกรรมของพลเมืองดีพฤติกรรมที่เอื้อเฟื้อต่อการพัฒนาประเทศ
2. ส่วนลำต้น แสดงถึงพฤติกรรมการทำงานอาชีพอย่างขยันขันแข็ง ซึ่งประกอบด้วยจิตลักษณะ 5 ด้าน คือ
1. เหตุผลเชิงจริยธรรม คือ การซื่อสัตย์สุจริต มีความรับผิดชอบ
2. ,มุ่งอนาคตและการควบคุมตนเองคือ การรู้จักควบคุมตนเองให้อดทน มีความภูมิใจในการทำความดี
3. ความเชื่ออำนาจในตนคือ เชื่อว่าผลที่เกิดมาจากการกระทำของตนเอง
4. แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ คือ การมุ่งมั่นในการทำงานให้สำเร็จตามจุดหมายกล้าฝ่าอุปสรรคโดยไม่ย่อท้อ
5. ทัศนคติ คุณธรรมและค่านิยมคือ การมองเห็นและเข้าใจในคุณค่า ประโยชน์และความดีของการปฏิบัติหน้าที่
3. ส่วนของราก แสดงถึงพฤติกรรมการทำงาน ประกอบอาชีพอย่างขยันขันแข็ง ประกอบด้วยจิตลักษณะ 3 ด้าน คือ
1. สติปัญญา คือ ความเฉลียวฉลาด มีความรู้ ความคิดที่เหมาะสมกับอายุ
2. ประสบการณ์ทางสังคม คือ การรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ได้รับประสบการณ์ทางสังคมอย่างเหมาะสมกับอายะ
3. สุขภาพจิต คือ การมีความสุขในการทำงาน มีอารมณ์ที่มั่นคง
กล่าวด้วยสรุปได้ว่า . ส่วนดอกผล แสดงถึงพฤติกรรมการทำความดี ส่วนลำต้น แสดงถึงพฤติกรรมการทำงานอาชีพอย่างขยันขันแข็ง ส่วนของราก แสดงถึงพฤติกรรมการทำงาน
6. ทฤษฎีทางพุทธศาสตร์
หลักคุณธรรม จริยธรรม ที่ใช้ในพระพุทธศาสนา ก็คือ ให้ละเว้นจากความชั่วทั้งปวง ให้ทำความดี ให้ชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์
สุชีพ ปัญญานุภาพ (2540 : 180) ได้นำเสนอหลักจริยศาสตร์ของศาสนาพุทธ ไว้ว่าหลักจริยศาสตร์ของศาสนาพุทธ มี 3 ขั้น คือ
1.จริยศาสตร์ขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วยศีล 5 ธรรม 5 ดังนี้
1. เว้นจากการเบียดเบียน ทำร้ายชีวิตสัตว์หรือมนุษย์ การมีความเมตตากรุณาต่อสัตว์ จัดเป็นศีล ในส่วนของการมีความเมตตาต่อมนุษย์ด้วยกัน จัดเป็นธรรม
2. เว้นจากการลักทรัพย์ จัดเป็นศีล ในส่วนของการมีความเอื้อเฟื่อเผื่อแผ่ประกอบอาชีพที่สุจริต จัดเป็นธรรม
3. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม จัดเป็นศีล ส่วนการสำรวมในกาม จัดเป็นธรรม
4. เว้นจากการพูดเท็จ จัดเป็นศีล การพูดแต่สิ่งที่เป็นจริง สร้างสรรค์ จัดเป็นธรรม
5. เว้นจากการดื่มสุรา จัดเป็นศีล การมีสติ สำรวมระวังกาย ใจ และวาจา จัดเป็นธรรม
2. จริยศาสตร์ขั้นกลาง ประกอบด้วยกุศลกรรมบถ 10 ดังนี้
1. เว้นจากการฆ่า หรือทำร้ายเบียดเบียนชีวิตทั้งมนุษย์และสัตว์
2. เว้นจากการลักทรัพย์
3. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
4. เว้นจากการพูดเท็จ
5. เว้นจากการพูดยุยงให้แตกร้าว
6. เว้นจากการพูดคำหยาบ
7. เว้นจากการพูดเหลวไหล พูดเพ้อเจ้อ
8. ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่นเอามาเป็นของตนเอง
9. ไม่คิดปองร้ายผู้อื่น หรือคิดให้ผู้อื่นถึงความพินาศ
10.ไม่มีความเห็นผิดไปจากทำนองคลองธรรม มีความคิดเห็นที่ถูกต้อง
3. จริยศาสตร์ขั้นสูง ประกอบด้วยอริยมรรค คือ ทางอันประเสริฐมี 8 ประการ ดังนี้
1. ความเห็นชอบ หมายถึง มีปัญญาเห็นอริยสัจ 4 ประการ
2. ความดำริชอบ หมายถึง ดำริในการออกจากกาม ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
3. การเจรจาชอบ หมายถึง ไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ
4. การกระทำชอบ หมายถึง ไม่ฆ่าสัตว์หรือมนุษย์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม
5. การเลี้ยงชีพชอบ หมายถึง การประกอบอาชีพโดยชอบธรรม ถูกกฎหมาย
6. ความเพียรชอบ หมายถึง การเพียงระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้น เพียรสร้างความดี เพียรรักษาความดีที่เกิดขึ้นแล้วให้คงอยู่
7. การตั้งสติชอบ หมายถึง ตั้งสติพิจารณาร่างกาย เวทนา ความรู้สึกสุข-ทุกข์ ให้รู้เท่าทันเห็นความเกิดดับ
8. การตั้งใจมั่นชอบ หมายถึง การทำจิตใจให้สงบเป็นสมาธิอย่างแน่วแน่
กล่าวโดยสรุปได้ว่า หลักคำสอนของศาสนาพุทธเป็นหลักในการดำเนินชีวิตเพื่อให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

ที่มา
ดวงเดือน พันธุมนาวิน.(2544).ทฤษฎีต้นไม้จริยธรรมการวิจัยและการพัฒนาบุคคล.(พิมพ์ครั้งที่ 4).กรุงเทพมหานคร:สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล.โครงการวิจัยคุณลักษณะและกระบวนการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมในประเทศไทย(รายงานการวิจัย).ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม:สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้.
สุชีพ บุญญานุภาพ.(2540).ประวัติศาสตร์ศาสนา.(พิมพ์ครั้งที่ 8).กรุงเทพมหานคร:มูลนิธิมงกุฎราชวิทยาลัย.
Jean Piaget. (1997).The Moral Judgment of the Child. London : Routledge & Kegan Paul Ltd.
Lawrence Kohlberg. (2000).Development of Moral Character and Moral Ideology Review of Child Development Research. New York : Russell Sage Foundation.
Maslow Abraham. (1987).Motivation and Personnality. New York : Harper and Row Publishers.
รูปดอกบัว

Leave a comment